วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ข่าว สมคิดยันรัฐมีมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อย


     รองนายกฯ 'สมคิด' ยันรัฐมีมาตรการพร้อมดูแลผู้มีรายได้น้อยในเมือง รายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด - พอใจตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 3.2%

    นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง หามาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่มีรายได้รวมไม่เกินปีละ 100,000 บาท ในพื้นที่เขตเมืองกว่า จากยอดผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการของรัฐทั้งหมด 8.3 ล้านราย เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือผ่านการเติมเงินให้กับเกษตรกรที่มีระดับรายได้ยากจนไปแล้วซึ่งต้องเร่งให้ความช่วยเหลือเพราะถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการและเป็นนโยบายสำคัญในการดูแลสังคม

   ขณะที่มาตรการยกเว้นภาษีเพื่อสนับสนุนการซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้สำอางและน้ำหอม กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด โดยต้องคิดให้รอบคอบถึงผลดีและผลเสียที่จะได้รับว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่


   สำหรับตัวเลขไตรมาส 3 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศออกมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 นั้น ถือว่าเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้เป็นที่น่าพอใจ แต่อาจจะชะลอลงบ้าง เนื่องจากการเปรียบเทียบรายจ่ายของปีก่อนสามารถทำได้สูง เพราะภาครัฐได้เร่งการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ไทยยังขยายตัวได้ดีกว่า เช่น สิงคโปร์ ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.6 หรือเกาหลีใต้ ที่ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น

    ทั้งนี้ ยอมรับว่า ไตรมาสที่ 4 ปีนี้ บรรยากาศจับจ่ายใช้สอยปรับตัวลดลง เนื่องจากประชาชนไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะใช้จ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญในช่วงที่ผ่านมา จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดูแลและฟื้นฟูให้ดีขึ้น โดยกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด หากพบว่าเศรษฐกิจเกิดการอ่อนแรงลงก็จะมีมาตรการเข้าไปดูแลให้มีความเข้มแข็ง เพราะได้เตรียมการไว้หมดแล้ว




ที่มา http://money.sanook.com/440045/
ข่าววันที่ 21 พ.ย. 2559

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ข่าว เกษตรฯ จ่อชง ครม.ปล่อยสินเชื่อขยายวงเงินกู้ นาแปลงใหญ่ 10 ล้านบาท


     ก.เกษตรฯ เตรียมชงมาตรการช่วยเกษตรกรเข้า ครม. ขยายวงเงินสินเชื่อนาแปลงใหญ่ เป็น 10 ล้านบาท ผ่อน 5 ปี ดอกเบี้ย 0.01 เปอร์เซ็นต์ 
    เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมนำเอามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ที่มีศักยภาพ เช่น นาแปลงใหญ่ ในการลดต้นทุนการผลิต โดยจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อเงินกู้ให้แก่เกษตรกรผ่านการขยายวงเงินสินเชื่อเงินสูงสุดเป็น 10 ล้านบาท ระยะเวลา ผ่อนชำระคืน 5 ปี มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 จากเดิมเกษตรกรสามารถขอสินเชื่อสูงสุดได้ 5 ล้านบาท ระยะเวลาชำระคืน 3 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 คาดว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มจากมาตรการเดิม 5,000 ล้านบาท รวมโครงการดังกล่าวจะใช้เงินอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถนำเข้าที่ประชุมได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา เพื่อกำหนดมติที่ชัดเจนจากกระทรวงเกษตรฯ ก่อนเสนอ ครม. 

ส่วนกระแสข่าวที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเดินทางมาตรวจเยี่ยม พร้อมติดตามการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ ในสัปดาห์หน้า ขณะนี้ยังไม่ได้แจ้งอย่างเป็นทางการจากทางนายกรัฐมนตรี มีเพียงกระแสข่าวเท่านั้น โดยกระทรวงเกษตรฯ พร้อมรายงานการดำเนินงานให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบทุกเมื่อ


ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/781902
ข่าววันที่ : 13 พ.ย. 2559

วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ข่าว รัฐเพิ่มสินเชื่อชะลอขายข้าวเป็นตันละ 13,000 บาท

ครม.อนุมัติตามข้อสรุปที่ประชุมนบข.ที่ให้เพิ่มเงินสินเชื่อชะลอขายข้าวเป็นตันละ 13,000 บาท 
     
     บิ๊กตู่ขอชาวนาอย่าฟังข้อมูลบิดเบือน เมื่อวันที่ 1 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) นัดพิเศษเช้าวันนี้มีมติกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ผ่านโครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี เป็นตันละ 13,000 บาท เพิ่มจากการประชุม นบข.วานนี้ซึ่ง กำหนดที่ 11,525 บาท/ตัน ซึ่งประกอบด้วย ค่าข้าวเปลือก เงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงข้าว และค่าเก็บรักษาข้าวไว้ในยุ้งฉาง สำหรับเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉางไม่เข้าร่วมโครงการนี้สามารถขายได้ในราคาตลาด โดยรัฐบาลจะช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวข้าวปรับปรุงคุณภาพโดยธกส.โอนเงินเข้าบัญชีในอัตราตันละ 2,000 บาท

     นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวได้มีการปรึกษาฝ่ายกฎหมายแล้ว ซึ่งสามารถทำได้ เพราะไม่ได้เป็นการจำนำข้าวทุกเมล็ดและไม่ใช่การนำข้าวที่ได้จากโครงการไปเก็บในคลังของรัฐ โดยหวังว่ามาตรการนี้จะทำให้ชาวนาพอใจในระดับหนึ่งและทำให้ราคาข้าวในตลาดปรับดีขึ้น แต่อยากให้เห็นใจรัฐบาลที่มีงบประมาณจำกัดและขณะนี้ก็มีผลกระทบหลายด้าน ทั้งจากปัญหาน้ำท่วม และปริมาณความต้องการข้าวลดลง 

     "การจะทำให้ราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้นแต่ทำผิดกฎหมายรัฐบาลไม่สามารถทำได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร และต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ รวมทั้งโรงสีต้องโปร่งใสสุจริต ขณะที่ชาวนาต้องมีเครื่องมือที่สามารถตรวจสอบความชื้นเป็นของตัวเอง เพื่อที่จะได้นำข้อมูลมาเปรียบเทียบกันให้ได้ราคาที่เป็นธรรม"นายกรัฐมนตรี กล่าว

     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องเข้าใจภาวะตลาดโลกว่าเป็นอย่างไร รวมถึงต้องวางแผนการเพาะปลูกอย่างเหมาะสม มีการทำเกษตรแปลงใหญ่ โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนเครื่องมือและจัดหาโรงสีขนาดกลางลงไปในแต่ละพื้นที่

      นอกจากนี้ ได้สั่งให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงไปสำรวจโรงสีว่ามีสิ่งใดแทรกซ้อนหรือไม่ และขอให้ชาวนาอย่าหลงเชื่อข้อมูลที่บิดเบือน เพราะราคาข้าวที่ตกต่ำในขณะนี้เป็นเพียงข้าวที่เก็บเกี่ยวหนีน้ำ มีความชื้นสูง และไวต่อแสง ซึ่งจะออกผลผลิตในช่วงเดือน ต.ค.ถึง พ.ย.59 ประมาณ 2 ล้านตันเท่านั้น และขอให้ติดตามข้อมูลต่างๆจากรัฐบาล